ธปท. ประกาศเกณฑ์คำนวณดอกเบี้ยอ้างอิงธุรกรรม THOR เริ่มวันนี้
admin - February 23, 2022
ธปท. ประกาศเกณฑ์คำนวณดอกเบี้ยอ้างอิงธุรกรรม THOR เริ่มบังคับใช้กับสถาบันการเงิน ตั้งแต่วันนี้ (16 ก.พ.) เป็นต้นไป ชี้แบงก์ต้องแจ้งคู่สัญญา-ผู้ใช้บริการทราบถึงความแตกต่าง THOR กับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบมีระยะเวลาที่ทราบค่าล่วงหน้า
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกง. 2/2565 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคำนวณอัตราดอกเบี้ยของธุรกรรมการเงินที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ลงนามโดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป (ถัดจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยของธุรกรรมการเงินที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ดังนี้
(1) ใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยเชิงซ้อน (compound average) เป็นวิธีหลักในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยของธุรกรรมการเงิน โดยสถาบันการเงินสามารถใช้สูตรการคำนวณอัตราดอกเบี้ยวิธีหาค่าเฉลี่ยเชิงซ้อนตามที่ระบุไว้ในแนวปฏิบัติสำหรับการทำธุรกรรมการเงินอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR (A User’s Guide to Thai Overnight Repurchase Rate) ซึ่งเผยแพร่ที่เว็บไซต์ของ ธปท. (www.bot.or.th)
ในกรณีที่สถาบันการเงินคำนวณอัตราดอกเบี้ยของธุรกรรมการเงินด้วยวิธีอื่น สถาบันการเงินต้องสามารถชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการเลือกใช้วิธีดังกล่าวเมื่อได้รับการสอบถามจาก ธปท.
(2) แจ้งให้คู่สัญญาหรือผู้ใช้บริการทราบถึงความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะข้ามคืนกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบมีระยะเวลาที่ทราบค่าล่วงหน้า (forward-looking term rate) รวมทั้งรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องชำระในแต่ละงวด เช่น สูตรคำนวณอัตราดอกเบี้ยของธุรกรรมการเงิน เป็นต้น
ทั้งนี้ การออกประกาศดังกล่าว สืบเนื่องจากการปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดการเงินทั่วโลก ส่งผลให้มีการพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยระยะข้ามคืน (overnight rate) ซึ่งแตกต่างจากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเดิม เช่น LIBOR ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบมีระยะเวลาที่ทราบค่าล่วงหน้าตั้งแต่ต้นงวดดอกเบี้ย (forward-looking term rate)
ทำให้เมื่อนำอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะข้ามคืนดังกล่าวไปใช้ในธุรกรรมการเงินที่มีงวดการชำระดอกเบี้ยยาวกว่าระยะข้ามคืน เช่น งวดดอกเบี้ย 1 เดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา จะต้องคำนวณอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะข้ามคืนดังกล่าวให้เป็นอัตราดอกเบี้ยของธุรกรรมการเงินที่จะใช้สำหรับคำนวณดอกเบี้ยในแต่ละงวด ซึ่งการคำนวณด้วยวิธีหาค่าเฉลี่ยเชิงซ้อน (compound average) ที่คำนึงถึงมูลค่าของเงินตามกาลเวลา (time value of money) เพื่อสะท้อนต้นทุนทางการเงินที่แท้จริงตามหลักการพื้นฐานของทฤษฎีการเงิน เป็นวิธีมาตรฐานหนึ่งที่ใช้ในตลาดการเงินทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้ร่วมตลาดที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่สำหรับสกุลเงินบาท คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง Thai Overnight Repurchase Rate (THOR) ซึ่งคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยของธุรกรรมระยะข้ามคืนในตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระหว่างธนาคาร และการนำอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ไปใช้ในธุรกรรมการเงินที่มีกำหนด ชำระดอกเบี้ยเป็นงวดที่ยาวกว่าระยะข้ามคืนจะต้องคำนวณอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ให้เป็นอัตราดอกเบี้ยของธุรกรรมการเงินในแต่ละงวด
ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคำนวณอัตราดอกเบี้ยของธุรกรรมการเงินที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR เพื่อให้สถาบันการเงินมีวิธีปฏิบัติในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยของธุรกรรมการเงินที่ชัดเจนและสอดคล้องกับวิธีมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนส่วนต่าง (basis) ที่เกิดจากการใช้วิธีคำนวณที่แตกต่างกันรวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่คู่สัญญาและผู้ใช้บริการว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ย มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance
Archives
Calendar
M | T | W | T | F | S | S |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | 2 | 3 | ||||
4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 |
25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |